ประวัติหูฟัง
สวัสดีครับ วันนี้เรามารู้จักประวัติของหูฟังกันดีกว่าครับ โดยประวัตินี้ผมได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวรวมทั้งข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้ (ข้อมูลหายากมากทั้งเวบไทยเวบเทศ) และได้ลองเล่าให้เพื่อนๆ หลายๆ คนได้ฟัง เขาก็เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เล่น gadget ทั้งใหม่และเก่าครับ จึงได้เรียบเรียงเขียนมาให้อ่านกันครับ
แต่ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าข้อมูลหายากจริงๆ ข้อมูลบางส่วนอาจจะผิดพลาดไปจากที่หลายๆ ท่านได้รู้มา ถ้ามีตรงไหนไม่ตรงตามความเป็นจริงรีบท้วงเลยนะครับ ผมจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง (ผมถือคติว่า ไม่มีใครรู้อะไรทั้งหมด เราอาจรู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ เขาอาจจะรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ^_^)
เริ่มเลยแล้วกันครับ
1. กำเนิด Full size
เท้าความในสมัยที่มีการเริ่มประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ เอดิสันได้ประดิษฐ์สิ่งของมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องเล่น อุปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกพัฒนาไปอย่างมากมาย กลายเป็นเครื่องเล่นตามบ้าน มีการสร้างลำโพงตั้งโต๊ะ ยุคสมัยเริ่มต้นจริงๆ ของหูฟังน่าจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีความต้องการใช้หูฟังในวงการทหาร (เพื่อฟังเสียงวิทยุต่างๆ) จึงได้มีการพัฒนาหูฟังกันขึ้นมา โดยนำดอกลำโพงขนาดย่อมๆ 2 อัน มาใส่กับที่คาดผม ซึ่งเป็นที่มาของ "หูฟัง Full size"
ในตอนแรกยังไม่มีฟองน้ำ เราเรียกว่า Full size แบบเปิด มีแต่ไดรเวอร์แปะกับหูโดยตรงเท่านั้น ตอนหลังจึงมีฟองน้ำให้ใส่สบายไม่ล้า และช่วยกันเสียงภายนอก เราเรียกกันว่า Full size แบบปิด หูในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะมีโครงเป็นเหล็กเพราะต้องการให้ทนทานเมื่อเวลาใช้ในสงคราม จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างหนัก หลังจากเสร็จศึกสงคราม กลุ่มบริษัทต่างๆ ที่ได้ผลิตหูฟังให้กับการทหารก็เริ่มมาทำในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
กลุ่มประเทศที่เริ่มทำ Full size ก่อนน่าจะเป็นยุโรป เพราะวิทยาการขณะนั้นก้าวล้ำไปกว่าอเมริกาและเอเชียมากนัก ตอนหลังอเมริกาจึงไล่มาทันและแซงไปในที่สุด ฉะนั้นถ้าว่ากันตามแหล่งกำเนิด Full size ดีๆ มักจะผลิตจากยุโรปแทบทั้งนั้น (เพราะเขาทำมาก่อนน่าจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า) ตัวอย่างเช่น Sennheiser Ergo เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นทำไม่ดี แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนใหญ่ หูฟัง Full size ดีๆ มักมีแหล่งผลิตจากยุโรป
2. กำเนิด Ear bud
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ญี่ปุ่นต้องพัฒนาตัวเองอย่างหนักเพื่อเอาชีวิตรอด ได้มีการปฏิวัติการพัฒนาเลยทีเดียว หนึ่งในนั้นก็คื่อเครื่องเล่นเทปแบบพกพา โดยเจ้าของโซนี่เป็นผู้คิดค้น พอคิดค้นได้ก็ต้องมีหูฟังมาใช้ร่วมกัน
ตอนแรกก็นำเอา Full size มาใช้ แต่ด้วยน้ำหนักที่มาก ดูเทอะทะ จึงได้ทำการลดขนาดให้เล็กลง แต่ยังใช้ที่คาดแบบที่คาดผมอยู่ (เป็นต้นกำเนิดของหูฟังกึ่ง Full size ในปัจจุบัน) มีการทำตัวพับได้ออกมาขายด้วย แต่ขนาดนั้นก็ยังใหญ่เกินไปถ้าจะพกพา จึงได้มีการลดขนาดให้ไดร์เวอร์เล็ก และทำให้ใส่ในรูหูได้พอดี ซึ่งกว่าจะออกแบบ
มาได้โซนี่ได้ลองผิดลองถูกตั้งนาน เป็นที่มาของหูฟัง "Ear bud"
คนที่ผลิต Ear bud เป็นคนแรกก็คือโซนี่ อาจจะมีคำถามว่าแล้วทำไมในช่วงนั้น ยุโรป กับอเมริกาไม่ทำตาม มีเหตุผล 2 ประการคือ
- หนึ่งคือเขาค่อนข้างดูถูกคนญี่ปุ่นคิดว่าไม่ได้เรื่อง เหมือนของเด็กเล่น (สมัยนั้นไทยเราก็ยังดูถูกเขาอยู่เลย ถ้าเป็นของญี่ปุ่นกระจอก ต้องเป็นของอเมริกาถึงจะดี)
- สองเสียงที่ได้แย่กว่า Full size มาก เขาจึงไม่คิดจะทำกัน ปล่อยให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปตั้งไกลแล้วจึงค่อยเริ่มทำตาม
ฉะนั้นถ้าว่ากันตามแหล่งกำเนิดแล้ว หูฟัง Ear bud ดีๆ ส่วนใหญ่จึงมาจากญี่ปุ่น (เพราะเขาทำมาก่อน เป็นต้นแบบ) ตัวอย่างเช่น Sony , Aiwa เป็นต้น
3. กำเนิด In ear
ยุคสมัยเพลงเบ่งบานในอเมริกา (ประมาณปี 1950-1980) ได้มีการทำเพลงออกมามากมาย มีเพลงออกมาหลากหลายสไตล์ ทำให้อเมริกาก้าวล้ำเรื่องเพลงไปมากกว่ายุโรปและประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว การบันทึกเสียงเพื่อทำเทปก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าคนที่เคยอยู่ในห้องซ้อม หรือห้องอัดจะรู้ดีว่าเสียงในห้องอัดค่อนข้างดัง ถึงดังมาก มีเสียงกวนกัน ทำให้เล่นผิดจังหวะ มือกลองที่ต้องคุมจังหวะส่วนใหญ่จึงต้องใส่ Full size แบบปิดเพื่อกันเสียง และก็ได้ฟังจังหวะที่ถูกต้อง
แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ความใหญ่ใส่ไม่สะดวก นักร้องหรือ นักกีตาร์ จะใส่ไม่ถนัด จึงมีการคิดค้นหูฟังขนาดเล็กที่สามารถกันเสียงได้ และได้ยินเสียงที่ชัดเจน จึงได้ทำหูฟังเลียนแบบหูฟังของคนหูตึง หูฟัง "In ear" จึงกำเนิดขึ้นมา ซึ่งตอนแรกผลิตมาเพื่อห้องอัดเท่านั้น เมื่อนักฟังเพลงได้เห็นนักดนตรีใช้จึงเอาแบบอย่างบ้าง In ear จึงได้เริ่มมีการผลิตมาเพื่อฟังเพลงมากขึ้น
แต่ด้วยการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะมีพื้นที่ขนาดเล็ก ไดร์เวอร์ก็ต้องเล็กตาม และการที่จะทำให้เสียงดีได้นั้นไม่ง่าย ราคาจึงค่อนข้างแพงกว่าหูฟัง 2 กลุ่มที่ผ่านมาแล้วอย่างมาก อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักอกแก่ผู้พัฒนา In ear อย่างมากก็คือเสียงที่ได้ค่อนข้างแคบ เพราะตอนแรกตั้งใจจะทำเพื่อใช้ในสตูดิโอเท่านั้น (ต้องการแค่กันเสียง กับให้เสียงที่ชัดเจน) ไม่ได้ทำมาเพื่อใช้ในการฟังเพลง จึงต้องการแก้ปัญหากันตรงนี้
ด้วยกายภาพของ In ear มีพื้นภายในน้อยมาก การจะทำให้เสียงกว้างจึงเป็นงานหินทีเดียว มีการพยายามหาจุกโฟมหลายๆ แบบเพื่อให้เสียงโปร่งขึ้นไม่อึดอัด มีการแถมจุกโฟมหลายๆ แบบเพื่อให้เลือกใช้ตามความต้องการ ในที่สุดก็ได้มาจบตรงการใส่ไดร์เวอร์เพิ่มเพื่อให้เสียง และช่วงเสียงกว้างขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา เพราะพื้นที่มีค่อนข้างน้อย และระยะทางถึงแก้วหูค่อนข้างสั้น ทำให้เสียงของแต่ละไดร์เวอร์ตีกันเอง (เรียกว่า Cross over) จึงต้องมีการทำภาคแก้ไข Cross over ออกมาด้วยสำหรับหูฟัง In ear ที่มีตั้งแต่ 2 ไดร์เวอร์เป็นต้นไป นั่นเป็นเหตุผลทำให้หูฟัง In ear ที่มีหลายๆ ไดร์เวอร์ ก็แพงกว่าแบบธรรมดาหลายเท่าตัวเช่นเดียวกัน
ได้มีการนำ In ear ไปใช้ในงานคอนเสิร์ตต่างๆ ด้วย (เสียงในคอนเสิร์ตค่อนข้างดัง และฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง) นักร้อง นักดนตรีจึงต้องใช้ In ear ช่วย แต่ก็เกิดปัญหาในเรื่องของการใส่แล้วหลุดบ่อยบ้าง ยังไม่สามารถเก็บเสียงได้ดีที่สุดบ้าง นักร้อง นักดนตรีจึงได้สั่งทำ In ear ที่มีขนาดพอดีกับหูตัวเองออกมา เป็นการเฉพาะ เราเรียกกันว่า In ear custom (คล้ายๆ กับนักกีตาร์เก่งๆ ก็ได้มีการสั่งให้บริษัทกีตาร์ผลิตกีตาร์ในแบบที่ตัวเองต้องการออกมา เรียกว่า Guitar custom เมื่อมีคนสนใจจึงเริ่มทำออกมาขาย เรียกว่า Guitar signature)
เมื่อคนไปดูคอนเสิร์ตเห็นก็อยากจะใช้บ้างจึงเริ่มมีการทำขาย แต่ราคาก็ต้องแพงกว่าปกติถึงหลายเท่า (กีตาร์ก็เหมือนกันถ้าเป็น signature แล้วจะแพงกว่ารุ่นคล้ายๆ กัน 4-5 เท่าตัวทีเดียว ผมว่าน่าจะแพงค่าลายเซ็น 555) แต่สำหรับ นักร้อง นักดนตรี ราคาก็ไม่ได้ถือว่าแพงมากมายอะไร เพราะเขาถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้งาน (ไมค์ตัวละ 500,000 เขาก็ซื้อใช้มาแล้ว) แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปยังอยู่ในกลุ่มแคบๆ เพราะมีราคาค่อนข้างแพง และไม่สามารถใช้ร่วมกันคนอื่นได้
คนที่เริ่มผลิต In ear ก็คืออเมริกา ฉะนั้น In ear ดีๆ จึงมาจากอเมริกาเกือบทั้งหมด (เพราะเขาทำมาก่อน เป็นต้นแบบ) เช่น Shure , UE , UM เป็นต้น
จากที่เขียนมาตั้งยืดยาวจะเห็นได้ว่า การจะบอกว่า Full size , Ear bud , In ear อะไรดีกว่ากันคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละตัวมีจุดกำเนิด และการใช้งานไม่เหมือนกัน อยู่ที่เราจะเลือกใช้ (เหมือนกับรถ มีทั้งรถเก๋ง รถกระบะ รถมอไซค์ มันก็อยู่กับสถานการณ์ว่าจะต้องใช้อะไร ไปซื้อของใกล้ๆ ใช้มอไซค์ ใช้รถยนต์เปลืองน้ำมัน หาที่จอดยาก ไปเที่ยวมีของด้วยใช้กระบะ เข้าเมือง ติดต่อธุระใช้รถเก๋ง) ถ้าเดินทางผมใช้ In ear ถ้าอยู่บ้านทำงานเดินไปเดินมาใช้ Ear bud ถ้าต้องการเสียงคุณภาพกันสุดๆ ผมใช้ Full size ครับ
หวังว่าคงไม่น่าเบื่อเกินไปนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ
เดียวจะมา update ข้อมูลเพิ่มเติมอีกทีนะครับ
ตอบลบ